ตาลโตนด
ตาลโตนด หรือ โหนด (ภาษาถิ่นใต้) ภาษาอังกฤษ : Asian Palmyra palm, Toddy palm, Sugar palm เป็นพันธุ์ไม้สกุล Borassus ในวงศ์ปาล์ม จัดเป็นพืชชนิดไม่สมบูรณ์เพศ โดยลำต้นมีความสูงประมาณ ๔๐ ม. จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ ๖๐ ซม. ลำต้นมีเปลือกไม้ลักษณะเป็นเสี้ยนไม้แข็งสีดำห่อหุ้ม โคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบมีลักษณะเหมือนพัดขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง ๑ - ๑.๕ ม. ก้านยาว ๑ - ๒ ม. ผลมีสีเหลืองแกมดำคล้ำมีเส้นใยแข็ง มันวาว ห่อหุ้มเนื้อเยื่อสีเหลืองหรือเมล็ดไว้ภายใน ผลตาลโตนดหนึ่งผลจะมีเมล็ดใหญ่แข็ง ๑ – ๓ เมล็ด ตาลเป็นพืชยืนต้นอายุประมาณ ๑๐๐ – ๒๐๐ ปี เมื่ออายุ ๑๕ - ๑๖ ปี จะเริ่มออกดอกและมีผล ลักษณะเป็นผลรวม ซึ่งต้นตาลเพศเมียจะให้ผลตาล ต้นตาลเพศผู้จะให้น้ำตาลโตนด
ตาลโตนดที่คาบสมุทรสทิงพระ
คาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วย ๔ อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร ถือเป็นพื้นที่ที่มี การปลูกต้นตาลโตนดหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอสทิงพระ จากการสำรวจพื้นที่อำเภอสทิงพระ พบว่าพื้นที่นา ๑ ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ย ๒๐ ต้น
เจตน์สฤษฎิ์ สังขพันธ์ และคณะ ( ๒๕๕๘ ) ทำการศึกษา คนขึ้นตาลกับความมั่นคงทางอาหารภายใต้วิถีโหนดในคาบสมุทรสทิงพระ พบว่า คนขึ้นตาลในอดีตจะประกอบอาชีพขึ้นตาลควบคู่กับอาชีพทำนา เนื่องจากต้นตาลโตนดจะขึ้นอยู่ตามคันนา เมื่อถึงเดือนที่ทำนาก็ทำนาตามปกติ แต่เมื่อถึงเดือนที่ทำน้ำตาลได้ก็จะทำควบคู่กับการทำนาด้วย ทั้งนี้ต้นตาลสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ตั้งแต่ ผล ราก ใบ กิ่งก้านหรือลำต้น ซึ่งทำให้เกิดความมั่นคง ทางอาหาร ซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น นับเป็นภูมิปัญญาที่ยังคงมีการสืบทอดต่อกันมา
อ้างอิง : https://skm.ssru.ac.th/news/view/a155

ภาพต้นตาลโตนด

กาบตาล
กาบตาล เป็นส่วนของก้านของใบตาล สามารถลอกผิวนอกส่วนที่อยู่ด้านบน เรียกว่า “หน้าตาล” มาฟั่นเป็นเชือกสำหรับผูกวัว ล่ามวัว แม้จะใช้ได้ไม่ทนทานเท่าเชือกที่ทำจากต้นปอหรือต้นเส้ง แต่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องตากแดดตากฝน เพราะมีความชุ่มน้ำ ซึ่งหากใช้เชือกที่ทำจากวัสดุอื่นก็จะเปื่อยผุพังเร็ว

ผลตาล
ผลตาลโตนด เป็นผลกลมใหญ่ สีเขียวถึงน้ำตาลดำ มีเนื้อด้านในที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ผลจะเกิดกับต้นตาลตัวเมียเท่านั้น โดยจะออกเวียนรอบต้นตามกาบใบ ประกอบด้วยผลตาลอ่อนประมาณ ๑-๒๐ ผล

ช่อดอก
ช่อดอกตาลโตนด ช่อดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น ช่อดอกตัวผู้จะมีลักษณะเป็นงวงยาวโดยมีกระโปรงห่อหุ้มอยู่ โดยสามารถรู้ว่าเป็นดอกตัวผู้หรือดอกตัวเมียเมื่อออกกระโปรงแล้วเท่านั้น โดยพบว่ากระโปรงปลายแหลมจะเป็นตัวผู้ และถ้าผิวกระโปรงมีลักษณะเป็นคลื่นจะเป็นตัวเมีย

เปลือกตาล
เปลือกตาล คือส่วนที่เป็นกะลา หลังจากที่ผ่าเอาจาวตาลออกแล้ว นิยมนำไปทำเชื้อเพลิง เมื่อนำไปเข้าเตาเผาจะได้ถ่านสีดำที่มีเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนสูง ปัจจุบันมีผู้รับซื้อถ่านที่ผลิตได้จากเปลือกแข็งของลูกตาลจำนวนมาก เพื่อเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบของยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอีกด้วย

ลำต้นตาล
ลำต้นตาลโตนด เป็นพืชลำต้นเดียว ( single stem )ขึ้นจากพื้นดินเพียงต้นเดียวไม่มีการแตกหน่อ มีขนาดใหญ่เส้นรอบวงประมาณ ๒-๔ ฟุต ผิวดำเป็นเสี้ยนแข็งมีความสูงจากพื้นดินถึงยอดประมาณ ๒๕-๓๐ ม. ต้นตาลจะเริ่มตั้งสะโพกหลังจากปลูกประมาณ ๓-๕ ปี มีความสูงประมาณ ๒๕ - ๔๐ ม. ซึ่งจะเพิ่มความสูงปีละประมาณ ๓๐-๔๐ ซม.

ใบตาล
ใบตาลโตนด มีลักษณะเป็นรูปพัด ใบจะมีใบย่อยเรียกว่า Segment จะแตกจากจุด ๆ เดียว ขอบก้านใบจะมีหนามแข็งและคมติดอยู่เป็นแนวยาวคล้ายใบเลื่อย ยอดตาลประกอบด้วยใบตาลประมาณ ๒๕-๔๐ ใบ มีสีเขียวเข้มล้อมรอบลำต้น รัศมีประมาณ ๓-๔ ม.